Avareum Market Outlook 2024: Global Economics

Avareum Market Outlook 2024: Global Economics

แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2024

การคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจโลกในปี 2024 เป็นโจทย์ที่ยังคงท้าทายมาก เนื่องจากความไม่แน่นอนในหลายปัจจัยที่จะมีผลกระทบกับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐและธนาคารกลางอื่น ๆ  ทั่วโลก จะเป็นตัวกำหนดทิศทางของเงินที่จะไหลเข้าหรือออกจากประเทศต่าง ๆ  รวมถึงไหลเข้าและออกในสินทรัพย์ต่าง ๆ  โดยปัจจัยที่น่าจะมีผลกระทบอย่างชัดเจนต่อทิศทางของเศรษฐกิจโลกจะมีประเด็นหลัก ๆ ดังนี้ (โดยเราจะตั้งสมมติฐานเทียบเคียงในแต่ละหัวข้อระหว่างสหรัฐอเมริกา กับเศรษฐกิจโลก)

ต้นทุนทางการเงิน

สหรัฐอเมริกา
ต้นทุนทางการเงินของบริษัทสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดหลังจากการขึ้นดอกเบี้ยของ FED จนทำให้ปัจจุบันต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นมากกว่า 6% แล้วในบริษัทขนาดเล็ก ธุรกิจที่ต้องใช้เงินกู้ จะประสบปัญหาจากดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ในการ Refinance หนี้สิน หรือการออกหุ้นกู้ ก็จะมีความท้าทายมากขึ้น และต้นทุนทางการเงินที่สูงนี้จะกระทบต่อผลประกอบการของบริษัท ซึ่งทำให้มีกำไรลดลงอย่างมีนัยสำคัญ การขยายธุรกิจ หรือการขยายกำลังการผลิตอาจจะมีอย่างจำกัดตามดอกเบี้ยที่สูงขึ้น การจ้างงานจึงมีแนวโน้มที่จะเริ่มชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปี 2023

Made with Flourish

ในขณะที่ภาคครัวเรือน หนี้สินภาคครัวเรือนต่อ GDP ของสหรัฐอเมริกาลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 100% ของ GDP มาอยู่ที่ 75% ต่อ GDP บ่งบอกถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา (แม้สัดส่วนนี้จะเทน้ำหนักไปที่กลุ่มผู้มีรายได้สูงมากขึ้น ในขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้ต่ำจนลงก็ตาม) บ่งบอกว่า การบริโภคจะยังพอที่จะสามารถขยายตัวได้ตราบเท่าที่กำลังซื้อของประชาชนยังคงมีอยู่ ก็จะช่วยประคองเศรษฐกิจไม่ให้ตกต่ำได้

โลก
ธนาคารกลางหลายๆ ประเทศก็มีการขึ้นดอกเบี้ยตามสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 2023 ที่ผ่านมา ทำให้ตอนนี้ต้นทุนทางการเงินของหลายประเทศในโลกสูงไม่แตกต่างจากสหรัฐ แต่สิ่งที่แตกต่างที่สำคัญคือ ระบบเศรษฐกิจของหลาย ๆ ประเทศไม่ได้เข้มแข็งเท่าสหรัฐ ทำให้ต้นทุนทางการเงินกลายเป็นโจทย์ที่ยากขึ้นไปอีก การขยายการลงทุนจึงมีอย่างจำกัด การจ้างงานน่าจะชะลอตัวลงโดยเฉลี่ย

ในขณะที่ภาคครัวเรือน ในประเทศที่หนี้สินภาคครัวเรือนอยู่ในระดับที่ต่ำ เช่น ญี่ปุ่น (68%) อินเดีย (40%) จีน (60%) กลุ่มยูโร (55%) จะยังคงพอมีกำลังในการบริโภค ในขณะที่หลายประเทศจะประสบปัญหาการบริโภคลดลง และความมั่นใจของผู้บริโภคลดลง เช่นไทย (90%) อังกฤษ (80%) อาจจะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจได้

อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจโลกจะมีโอกาสเกิด Recession แต่ธนาคารกลางทั่วโลกยังพอมี Policy Space ในการที่จะลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่คำถามสำคัญคือ การปรับดอกเบี้ยลดลงจะเกิดขึ้นก่อนเศรษฐกิจ Recession หรือธนาคารกลางจะรอให้เศรษฐกิจ Recession แล้วจึงปรับดอกเบี้ย

เงินเฟ้อ

สหรัฐอเมริกา
เงินเฟ้อเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบในรูปแบบลูกโซ่ เริ่มจากในปี 2023 ธนาคารกลางสหรัฐขึ้นดอกเบี้ยเพื่อชะลอเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นรุนแรง โดยผลลัพธ์ของการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกาในปี 2023 ถือว่าประสบผลสำเร็จค่อนข้างดี โดยสามารถทำให้เงินเฟ้อลดลงอย่างมีนัยสำคัญโดยที่เศรษฐกิจไม่ได้กระทบในระดับที่รุนแรงมากนัก แต่ความท้าทายในปี 2024 คือ การลดดอกเบี้ยของ FED หากเกิดขึ้นจริง อาจจะมีผลทำให้เงินดอลลาร์เริ่มอ่อนตัวลง และเม็ดเงินส่วนหนึ่งไหลออกจากดอลลาร์ ซึ่งเมื่อดอลลาร์อ่อนตัวลง จะมีผลทำให้สินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งเทรดในสกุลเงินดอลลาร์มีมูลค่าสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Soft Commodities หรือราคาพลังงาน ซึ่งอาจจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและกดดันให้เกิดเงินเฟ้อในรูปแบบ Cost Push เพิ่มขึ้นจากการลดดอกเบี้ยก็เป็นไปได้ เราจึงคาดว่า หากภาวะเศรษฐกิจไม่ได้ถดถอยอย่างมีนัยสำคัญ FED น่าจะไม่ได้ลดดอกเบี้ยในระดับที่สูงมากนัก ซึ่งจะช่วยประคองค่าเงินดอลลาร์ให้อ่อนตัวลงอย่างมีเสถียรภาพ

โลก
ในขณะที่หลายประเทศที่เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่สูง การลดดอกเบี้ยอาจจะมีผลโดยตรงทำให้ค่าเงินของสกุลเงินตนเองอ่อนค่าลง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนพลังงานรวมถึงต้นทุนการผลิตต่าง ๆ  สูงขึ้นตามมา ในขณะที่บางประเทศเช่นญี่ปุ่น อาจจะมีนโยบายกลับด้านกับประเทศอื่น คืออาจจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ย เพื่อช่วยพยุงค่าเงินเยน เราอาจจะไม่ได้เห็นเงินเฟ้อลดลงเข้าสู่สภาวะปกติในปี 2024 ยกเว้นแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรงจนอำนาจซื้อของผู้บริโภคลดลง

ภูมิรัฐศาสตร์

ความขัดแย้งในหลายพื้นที่บนโลก จะเป็นตัวแปรที่ทำให้เกิดความผันผวน และความวิตกกังวล รวมไปถึงอาจจะทำให้ Supply Chain การขนส่งสินค้าสะดุดลงในกรณีที่ความขัดแย้งแผ่ขยายในวงกว้างด้วย การค้าระหว่างประเทศจะได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น โครงสร้างเศรษฐกิจในทศวรรษที่ผ่านมา ที่เศรษฐกิจโลกขับเคลื่อนจากการร่วมมือระหว่างสหรัฐอเมริกาในฐานะผู้บริโภคและจีนในฐานะผู้ผลิต กำลังเดินมาถึงจุดจบ โลกเราหลังจากนี้จะขับเคลื่อนด้วยกลไกห่วงโซ่อุปทานที่แยกขาดจากกันระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน โดยจีนจะขับเคลื่อน GDP จากการหาตลาดใหม่ที่นอกเหนือจากสหรัฐอเมริกา รวมถึงขับเคลื่อนการบริโภคภายในประเทศ ในขณะที่สหรัฐอเมริกาจะเริ่มหาแหล่งผลิตใหม่ที่นอกเหนือจากจีน 

สิ่งนี้ในมุมมองของเราคิดว่าจะส่งผลดีต่อหลายประเทศที่มีความพร้อมในการรองรับการแยกระบบเศรษฐกิจของจีนและสหรัฐออกจากกัน เช่น บางประเทศจะเข้ามาเป็นฐานการผลิตของสหรัฐแทนจีน และบางประเทศจะเข้ามาเป็นกลุ่มผู้บริโภคของจีนแทนสหรัฐ

เทคโนโลยี

การเข้ามาของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่มีความสามารถก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็น Large Langauge Model (LLM) หรือ Generative AI ทำให้ปัญญาประดิษฐ์สามารถเข้ามาช่วยภาคธุรกิจในการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตได้อย่างมีนัยสำคัญ แนวโน้มขององค์กรขนาดใหญ่ทั่วโลกจะมีการเพิ่มจำนวนบุคลากรที่ช้าลง จนอาจจะก้าวไปถึงระดับการลดจำนวนบุคลากร และใช้ระบบอัตโนมัติในการช่วยประกอบธุรกิจ

สิ่งนี้เป็นเหมือนดาบสองคม ทั้งในแง่มุมด้านบวก ที่ต้นทุนของธุรกิจจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (ซึ่งในระยะยาวจะก่อให้เกิดสภาวะเงินฝืดจาก Cost Pull หรือการที่ราคาสินค้าลดลงจากต้นทุนที่ลดลงจากการก้าวกระโดดของเทคโนโลยี) และแง่มุมในด้านลบ คือ เศรษฐกิจโลกจะต้องการกำลังแรงงานของมนุษย์น้อยลงเรื่อยๆ ในระยะสั้น ประเทศที่มีกำลังแรงงานวัยทำงานสูง ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย หรือเวียดนาม จะได้เปรียบจากกำลังแรงงานจำนวนมากที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่เมื่อเทคโนโลยีก้าวกระโดดและเข้ามาทดแทนกำลังแรงงานมนุษย์ได้มากขึ้น ประเทศเหล่านี้จะเริ่มเกิดปัญหาการว่างงาน และการบริโภคที่หดตัวลงจากรายได้ที่ลดลงของประชากร

ในปี 2024 เราคงยังไม่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของการจ้างงานแบบก้าวกระโดด แต่เราจะเริ่มเห็นแนวโน้มการชะลอตัวของการจ้างงานของธุรกิจ ซึ่งเหตุผลไม่ได้มาจากเรื่องเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างเดียว แต่มาจากการก้าวกระโดดของเทคโนโลยีที่สามารถเข้ามาทดแทนการทำงานของมนุษย์ได้ด้วย


แนวโน้มตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา ปี 2024

Read more

Dethrone: From Quantitative Easing to Digital Currencies - What's Next for the Dollar's Status Quo? (TH)

Dethrone: From Quantitative Easing to Digital Currencies - What's Next for the Dollar's Status Quo? (TH)

In the long run we are all dead. - John Maynard Keynes QE กับทฤษฏีเงินเฟ้อ (ตอนที่ 1): Oversupply Always Leads to Devaluation June 2015 นี่คือกฎเศรษฐศาสตร์พื้นฐานที่เราคุ้นเคยกันดี เมื่อน้ำมันล้นตลาด ราคาน้ำมันก็ตกต่ำ เมื่อแรงงานในประเทศมีมากเกินไป ค่

lock-1 By Avareum Research
Crypto Narrative 2024: Web 3.0 and Blockchain Adoption

Crypto Narrative 2024: Web 3.0 and Blockchain Adoption

Introduction to Web 3.0 and Blockchain Technology ประเด็นสำคัญ Web 3.0 หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “Semantic Web” หรือ “Decentralized Web” นับเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในโลกดิจิทัล โดยนำเสนอประสบการณ์ส่วนบุคคล ผ่านระบบสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract)

By Avareum Research